3 อันดับ วัดขึ้นชื่ออำเภอเมือง จังหวัดน่าน

จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากนอกจากเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำน่านแล้วยังมีพื้นที่ป่ามากเป็นร้อยละ 85.45 ของพื้นที่ทั้งหมดแบ่งเป็นป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติภายในเมืองเองก็ยังเป็นแหล่งที่ตั้งของวัดสำคัญๆหลายแห่งซึ่งบางแห่งถูกประกาศเป็นโบราณสถานแห่งชาติ

วัดภูมินทร์

ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2139 แต่เดิมมีชื่อว่า “วัดพรหมมินทร์” ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่าน หลังจากครองนครน่านได้ 6 ปี จากนั้นชื่อวัดได้ถูกเรียกกันจนเพียนกลายเป็น “วัดภูมินทร์” จนถึงปัจจุบัน

ลักษณะเด่นคือ “พระอุโบสถจตุรมุข” โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมเฉพาะ เป็้นการรวมเอาโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ไว้ด้วยกันภายในอาคารเดียว ลักษณะการจำลองตามแผนภูมิจักรวาลตามความเชื่อแห่งพุทธศาสนา โดยมีพระประธานจตุรทิศปางมารวิชัย 4 องค์ หันหน้าออกสู่ประตูทั้ง 4 ทิศ ประดิษฐ์ฐานอยู่ภายใน ภายนอกมีนาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัว เปรียบเหมือนการอุ้มชูพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบต่อไป

ว่ากันว่าหากใครจะไปขอพร ให้สังเกตหน้าองค์พระ 1 ในทั้ง 4 ทิศ จะพบว่ามีอยู่เพียงทิศเดียวที่หน้าองค์พระประธานจะมีลักษณะยิ้มแย้มมากกว่าทั้ง 3 ทิศที่เหลือ การขอพรจะสมปราถนาดั่งใจ

ภาพจิตกรรมวัดภูมินทร์

วัดภูมินทร์ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2410 ในสมัยพระเจ้า อนันตวรฤทธิเดช ครั้งต่อมาราวปี พ.ศ. 2410 – 2418 ได้มีการบูรณะอีกครั้งใช้เวลาประมาณ 8 ปี ซึ่งเป็นที่มาของภาพจิตกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดภูมินทร์

ภาพกระซิบบันลือโลกหรือภาพปู่ม่านย่าม่าน” ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อสมัยโบราณ ในลักษณะกระซิบสนทนากัน

คำกลอนภาษาคำเมืองที่แต่งขึ้นมาสำหรับภาพนี้ว่าไว้ว่า

“กำฮักน้องกูปี้จั๊กเอาไว้ในน้ำก็กั๋วหนาว

จั๊กเอาไว้ปื้นอากาศกลางหาว

ก็กั๋วหมอกเหมยซ่อนดาวลงมาขะลุ้ม

จั๊กเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม

ก็กั๋วเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป

ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ตัวจายปี้นี้

จั๊กหื้อมันไห้ อะฮิ อะฮี้

ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา”

คำแปล “ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น”

วัดมิ่งเมือง

เดิมเป็นวัดร้างมีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่ 2 คนโอบ พบซากในราวปี 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครน่าน สถาปนาเป็นวัดใหม่ ตั้งชื่อว่า วัดมิ่งเมือง ตามชื่อเรียกเสาหลักเมืองว่า “เสามิ่งเมือง” ต่อมาปี 2527 วัดมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก พระครูสิริธรรมภาณี (เสน่ห์ ฐานสิริ) เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองทำการรื้อถอนอุโบสถหลังเดิมทั้งหลัง และใช้ช่างพื้นบ้านเมืองน่านออกแบบให้เป็นอุโบสถแบบล้านนาร่วมสมัย งานลวดลายปูนปั้นเป็นช่างฝีมือจากเชียงแสน

ภายในอุโบสถเป็นภาพเขียนจิตกรรมฝาผนังเขียนแบบอนุรักษณ์ภาพโบราณ เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองน่าน ตั้งแต่สมัยพญาภูคาเจ้าเมืองน่านองค์ปฐมตั้งเมืองอยู่ ณ เมืองย่าง (ปัจจุบันคือเขตอำเภอปัว) จนมาถึงสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย วาดภาพโดยคุณสุรเดช กาละเสน (จิตรกรพรสวรรค์พื้นบ้านเมืองน่าน)

ต่อมาปี 2506 ได้เกินน้ำท่วมใหญ่เข้ามาทะลักท่วมตัวเมืองอย่างรุนแรง กระแสน้ำได้เซาะรากโคนเสาพระหลักเมืองซึ่งผุกร่อนมาก เนื่องจากฝังอยู่ในดินมาเป็นเวลากว่า 170 ปี เสาจึงถอนโค่นลง เจ้าอาวาสจึงได้นำเสาไปผูกมัดไว้ใต้ถุนหอกลอง หลังวัด เมื่อน้ำลดเป็นปกติ เจ้าอาวาสพร้อมคณะศรัทธาวัดมิ่งเมืองได้ร่วมกันสร้างเสาพระหลักเมืองจำลองขึ้น ณ ที่เดิม โดยทำเป็นเสาก่อด้วยอิฐถือปูน ก่อฐาน 4 เหลี่ยมลดหลั่นเป็นชั้น ตัวเสาสูงประมาณ 1 เมตรครึ่ง ฐานสูงประมาณ 1 เมตรเศษ ทาด้วยปูนขาว เสาพระหลักเมือง ซึ่งอยู่ในศาลาจตุรมุข ด้านหน้าพระอุโบสถ เสาหลักเมืองสูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลัก เป็นรูปพรหมพักตร์มีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

หากมีโอกาสมาจังหวัดน่าน ควรไปสักการะเสาพระหลักเมืองน่านให้ครบทั้ง 4 ทิศ เพราะในแต่ละทิศมีความมงคลตามความหมายของทิศ โดยเริ่มจาก ทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก พร้อมทั้งชมความงดงามภายในวัด

วัดหัวข่วง

เป็นวัดที่มีวิหารและเจดีย์มีลักษณะศิลปกรรมแบบท้องถิ่นล้านนา และยังมีหอไตรเก่าแก่ตั้งเด่นอยู่บริเวณกลางวัด คล้ายวิหารแต่มีขนาดเล็ก ทรงสูง หน้บัน และฝาชั้นบนประดับแกะลายสวยงาม ตั้งอยู่ใกลองค์เจดีย์ 

ไม่ปรากฎหลักฐานการสร้าง มีแต่หลักฐานว่าได้บูรณะในราวปี พ.ศ. 2425 โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าเมืองน่าน ต่อมากรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่มาบูรณะเจดีย์วัดหัวข่วงและได้ประกาศเป็นโบราณสถานแห่งชาติ

วิหาร

เป็นอาคารทรงจั่ว หน้าบันประดับลวดลายไม้จำหลักรูปพรรพฤกษา มีความประณีตและสวยงาม ซุ้มประตูหน้าประดับลายปูนหั้นรูปใบผักกาด เป็นศิลปะแบบตะวันตก โดยฝีมือช่างเมืองน่านที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

เจดีย์

เจดีย์ทรงประสาท ได้รับอิทธิพลศิลปะล้านนา  ฐานล่างทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยม รับฐานบัวลูกแก้ว 2 ชั้น มีชั้นหน้า กระดานคั่นกลาง ฐานบัวลูกแก้วชั้นบน ย่อเก็จรับกับเรือนธาตุ ไปจรดชั้นบัวถลาใต้องค์ระฆัง ส่วนเรือนธาตุมีซุ้มจรนัม ด้านละซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด ที่มุมผนังทั้งสองข้าง ปั้นเป็นรูปทวดาทรงเครื่องยืนพนมมือ เหนือชั้นอัสดงตอนสุดเรือนธาตุ เป็นชั้นบัวถลาซ้อนกัน 3 ชั้น องค์ระฆัง มีขนาดเล็กไม่มีบัลลังก์ แต่สวนฐานล่าง และชั้นบัวถลาของเจดีย์นี้ยึดสูงขึ้น ทำให้มีลักษณะเรียวสูงกว่า

หอไตร

เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมจตุรมุข ใต้ถุนก่อทึบและธรรมาสน์ทรงสี่เหลี่ยมยอดเป็นรูปน้ำเต้าสลักลายลงรักปิดทองประดับกระจกเป็นสถานที่เก็บ พระไตรปิฏก และคำภีร์โบราณ ที่มีอายุหลายปี 

นี่เป็นเพียง 3 วัดในอำเภอเมือง จังหวัดน่าน ที่มีความงดงาม มีศิลปแบบล้านนา พร้อมทั้งความงดงามด้านอื่นอีกมากมายที่รอให้ทุกคนมาเที่ยวกัน จังหวัดน่านเหมาะกับการท่องเที่ยวในทุกฤดู เพราะมีสเน่ห์แตกต่างกัน 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*